Monthly Archives: พฤษภาคม 2014

10 ประเทศที่ประกาศแบนเฟซบุ๊ก

เรียบเรียงจาก  เผยรายชื่อ 10 ประเทศที่ประกาศแบนเฟซบุ๊ก

ขอขอบคุณภาพประกอบจาก islandcrisis.net

facebookbanned

หลังจากที่มีข่าวลือกันในโซเชียลเน็ตเวิร์กว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จะดำเนินการปิดเฟซบุ๊ก สื่อสังคมออนไลน์ชื่อดัง ที่ปัจุจบันทั่วโลกมีผู้ใช้งานเฟซบุ๊กมากถึง 1,251 ล้านราย เพื่อป้องกันการปลุกปั่นยุยงให้เกิดความแตกแยกในสังคม จนเป็นเหตุให้ คสช. ต้องออกมาชี้แจงพัลวัน โดยยืนยันว่า ไม่มีคำสั่งบล๊อคเฟซบุ๊กแต่อย่างใด เหตุที่มีผู้ใช้บางส่วนเข้าใช้ไม่ได้เมื่อเวลาประมาณ 15.45 น. ของวันที่ 28 พฤษภาคม 2557 ที่ผ่านมานั้น เป็นข้อผิดพลาดทางเทคนิค

อย่างไรก็ดี ทางกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือไอซีที ก็ระบุว่า เตรียมประสานไปยังต่างประเทศ เพื่อขอปิดบัญชีเฟซบุ๊กเป็นรายบัญชีในกรณีที่พบการโพสต์ข้อความ ภาพ หรือคลิปที่มีการยั่วยุ ปลุกปั่น บิดเบือน หรืออื่นใดอันขัดต่อประกาศของ คสช.

แต่รู้ไหมว่า การสั่งบล๊อก หรือแบนเฟซบุ๊กนั้น เกิดขึ้นในประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกเช่นกัน ซึ่งจากข้อมูลของเว็บไซต์ indexoncensorship.org พบว่า ที่ผ่านมาประเทศที่เคยมีการปิดเฟซบุ๊ก หรือแบนยาวนานจนถึงปัจจุบัน มีมากถึง 10 ประเทศ ดังนี้

1. เกาหลีเหนือ

แม้เกาหลีเหนือจะอนุญาตให้นักท่องเที่ยวใช้ 3G ได้ แต่สำหรับประชาชนในประเทศยังคงถูกจำกัดการเข้าถึงอินเทอร์เน็ตอยู่ดี แต่เรื่องนี้ก็ดูจะไม่เป็นปัญหาสำหรับเกาหลีเหนือเท่าใดนัก เพราะคนในประเทศก็สามารถใช้ชีวิตได้อย่างเป็นปกติในขอบเขตเสรีภาพที่ถูกจำกัด โดยเกาหลีเหนือมีเพียงอินทราเน็ต Kwangmyong ซึ่งส่วนใหญ่จะถูกใช้สำหรับส่งข้อความอวยพรวันเกิดเท่านั้น

 2. อิหร่าน

เฟซบุ๊กถูกแบนอย่างเป็นการในอิหร่าน หลังการเลือกตั้งปี 2009 เพื่อป้องกันการเคลื่อนไหวของฝ่ายต่อต้าน แม้การเข้าถึงเฟซบุ๊กและทวิตเตอร์ในประเทศอิหร่านเป็นสิ่งที่ยากยิ่ง แต่ประธานาธิบดี ฮัสซัน โรว์ฮานี กลับมีทวิตเตอร์เป็นของตัวเอง

 3. จีน

เฟซบุ๊กถูกบล็อกในจีนนับตั้งแต่เดือนกรกฎาคมปี 2009 หลังเกิดการประท้วงโดยชนกลุ่มน้อยมุสลิมอุยกูร์ ในอุรุมชี ซึ่งใช้เฟซบุ๊กเป็นเครื่องมือในการสื่อสาร วางแผนการ ทำให้พรรคคอมมิวนิสต์จีนต้องออกกฎควบคุมอินเทอร์เน็ต ลบโพสต์ รวมถึงบล็อกการเข้าถึงเฟซบุ๊ก

 4. คิวบา

แม้เฟซบุ๊กจะไม่ได้ถูกแบนอย่างเป็นทางการ แต่ประชาชนกลับเข้าถึงเฟซบุ๊กได้ยาก มีเพียงนักการเมือง สื่อ และนักศึกษาแพทย์เท่านั้นที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ได้ ส่วนคนทั่วไปหากต้องการออนไลน์ในสื่อสังคมออนไลน์ก็สามารถไปตามอินเทอร์เน็ตคาร์เฟ่ได้แต่ต้องเสียค่าใช้จ่ายสูง 6-10 เหรียญต่อชั่วโมง ในขณะที่รายได้ของคนส่วนใหญ่อยู่ที่ 20 เหรียญต่อชั่วโมงเท่านั้น

 5. บังกลาเทศ

เฟซบุ๊กถูกสั่งปิดในบังกลาเทศปี 2010 หลังจากที่มีการโพสต์ภาพการ์ตูนล้อเลียนศาสดามูฮัมหมัด รวมถึงผู้นำประเทศ จนทำให้ชายผู้โพสต์ถูกจับกุมตัวและมีการแบนเฟซบุ๊กนานนับสัปดาห์ หลังจากนั้น รัฐบาลบังกลาเทศจึงมีการเฝ้าระวังการโพสต์หมิ่นในเฟซบุ๊ก และสื่อสังคมออนไลน์อื่น ๆ อย่างใกล้ชิด

 6. อียิปต์

หลังจากที่ประชาชนลุกฮือต่อต้านประธานาธิบดีมูบารัค ก็ทำให้รัฐบาลอียิปต์ระงับการเข้าถึงสื่อสังคมออนไลน์ทันทีทั้งเฟซบุ๊ก ทวิตเตอร์ ยูทูบ ฮอตเมล และกูเกิล เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ประท้วงใช้เฟซบุ๊กในการปลุกระดม สร้างความไม่สงบในประเทศ

 7. ซีเรีย

เฟซบุ๊กถูกบล็อกในซีเรียนับตั้งแต่ปี 2007 เพื่อเป็นการลงโทษขั้นรุนแรง ภายหลังการเคลื่อนไหว ทางการเมืองเพื่อต่อต้านรัฐบาล อีกทั้งรัฐบาลกลัวการแทรกซึมจากอิสราเอลในสื่อออนไลน์ของซีเรีย

 8. มอริเซียส

ในปี 2007 รัฐบาลมอริเซียสได้ค้นพบว่า มีเพจเฟซบุ๊กปลอมขึ้นมาโดยอ้างว่า เป็นเพจของนายกรัฐมนตรี Navin Ramgoolam แห่งมอริเซียส ทางรัฐบาลจึงสั่งแบนเว็บไซต์เฟซบุ๊กทั้งหมด แต่คำสั่งแบนนั้นอยู่ได้ไม่นาน เพราะในวันต่อมาผู้คนก็สามารถเข้าใช้เฟซบุ๊กได้เหมือนเดิม และในตอนนี้ก็ดูเหมือนว่า Ramgoolam จะมีเฟซบุ๊กอย่างเป็นทางการจริง ๆ ของตัวเองแล้ว

 9. ปากีสถาน

เฟซบุ๊กในปากีสถานถูกบล็อกในปี 2010 ประมาณ 2 สัปดาห์ ด้วยเหตุผลด้านศาสนา หลังมีการเปิดการแข่งขันวาดภาพศาสดาผ่านทางเฟซบุ๊ก ปัจจุบันใช้งานได้แล้ว แต่เว็บไซต์ยูทูบยังถูกปิดกั้น

 10. เวียดนาม

ประเทศเวียดนามบล็อกเฟซบุ๊กหลังเดือนกันยายน ปี 2009 ประมาณ 1 สัปดาห์ จากข่าวลือว่ารัฐบาลเวียดนามเป็นผู้สั่งบล็อก แต่ทางรัฐบาลก็ออกมาปฏิเสธ โดยในเดือนกันยายนปี 2013 รัฐบาลเวียดนามได้ออกกฎหมายห้ามประชาชนวิพาษก์วิจารณ์การทำงานของรัฐบาลบนเฟซบุ๊ก อย่างไรก็ตาม การบล็อกเฟซบุ๊กในเวียดนามก็ไม่ได้เป็นอุปสรรคในการเล่นสังคมออนไลน์ของประชาชน เพราะสามารถใช้งานผ่านทาง VPN ที่ใช้งานอย่างแพร่หลายได้

ขอบคุณข้อมูลจากเว็บไซต์กระปุกดอทคอม..
ที่มา : http://fbguide.kapook.com/view89488.html

ความมหัศจรรย์ของกราฟิน (Graphene) กุญแจสำคัญสู่การผลิตสินค้าไอทีในอนาคต

       หลายคนอาจจะเคยได้ยินเกี่ยวกับกราฟิน (graphene) หรือวัสดุที่มีโครงสร้างอันเกิดจากการจัดเรียงกันของคาร์บอนอะตอมแบบวงหกเหลี่ยม (Hexagonal configuration) ในแนวระนาบ 2 มิติ หลายๆวงต่อกัน มีความสามารถด้านการนำไฟฟ้า และมีความเสถียรของรูปร่างอย่างมาก ล่าสุดเมื่อเดือนที่แล้วนี้เอง Samsung ได้ประกาศว่าทางบริษัทค้นพบวิธีการผลิตแบบใหม่ซึ่งสามารถนำกราฟินมาใช้งานกับสินค้าเชิงพาณิชย์ในเร็วๆ นี้ และยังส่งผลให้วัสดุที่ว่ามีความยืดหยุ่นสูงอีกด้วย และ Samsung เองก็เชื่อว่าถ้านำวิธีการดังกล่าวมาผลิตจอแสดงผลที่มีความโค้งและมีความยืดหยุ่นสูงกว่าแบบที่เห็นบนโทรทัศน์จอโค้ง สมาร์ทโฟนจอโค้ง หรืออุปกรณ์อิเลคทรอนิกส์จอโค้งที่มีอยู่ในปัจจุบันอีกด้วย

        น่าเสียดายที่ในตอนนี้เรายังไม่มีโอกาสได้เห็นผู้ผลิตรายไหนนำกราฟินมาใช้เป็นวัสดุประกอบหน้าจอแสดงผลบนโทรศัพท์หรือแท็บเล็ต แต่เชื่อว่ามีบริษัทจำนวนมากยอมทุ่มเม็ดเงินไปกับการพัฒนากราฟินเพื่อให้นำมาใช้งานในเชิงพาณิชย์ได้

       คลิปวิดีโอที่นำมาเสนอเป็นตอนหนึ่งในรายการ The One Show ของสถานี BBC ซึ่งจะอธิบายว่ากราฟินมีคุณลักษณะที่แข็งแกร่งกว่าเพชร นำไฟฟ้ามากกว่าทองแดง มีความยืดหยุ่นมากกว่ายาง และก็บางจนกระทั่งแทบจะไม่สามารถมองเห็นด้วยตาเปล่า

       ในอนาคตข้างหน้า กราฟินจะถูกนำมาใช้งานอย่างแพร่หลายและเป็นกุญแจสำคัญในการพัฒนาอุปกรณ์สมาร์ทโฟน อุปกรณ์สวมใส่ที่มีความยืดหยุ่นสูง หรือแม้กระทั่งนำไปใช้เป็นส่วนประกอบของแบตเตอรี่ที่โค้งงอได้ ซึ่งบริษัทไอทีทั่วโลกกำลังเผชิญกับข้อจำกัดในการสร้างสรรค์นวัตกรรมและข้อจำกัดด้านการออกแบบ แกรฟินจะเป็นตัวแปรสำคัญซึ่งตอนนี้ได้รับความสนใจจากยักษ์ใหญ่วงการไอทีทั้ง Apple, Samsung และ Google

ขอบคุณข้อมูลจากเว็บไซต์ Siamphone.com

ที่มา : http://news.siamphone.com/news-17158.html

ความเชื่อเกี่ยวกับพระอาทิตย์ทรงกลด

เรียบเรียงข้อมูลจาก พระอาทิตย์ทรงกลด ความงามของธรรมชาติ กับความเชื่อคู่สังคมไทย

sun

พระอาทิตย์ทรงกลด

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

พระอาทิตย์ทรงกลด เกิดขึ้นได้อย่างไร มักเกิดในช่วงไหน แล้วทำไมคนไทยจึงมีความเชื่อว่าพระอาทิตย์ทรงกลดคือสิ่งมงคล คำตอบอยู่ที่นี่แล้ว…

  บางครั้งเมื่อเราแหงนหน้ามองขึ้นไปบนท้องฟ้ากลางแดดจ้า ๆ เราอาจได้สัมผัสกับภาพรัศมีของดวงอาทิตย์แผ่ออกเป็นวงกว้างล้อมรอบดวงตะวันกลมโต ดังที่หลายคนเรียกว่า “พระอาทิตย์ทรงกลด” ซึ่งดูแล้วเป็นภาพที่งดงามไม่น้อยเลย และเมื่อเกิดพระอาทิตย์ทรงกลดขึ้นทีไร ปรากฏการณ์นี้ก็มักจะถูกโยงไปเข้ากับเหตุการณ์บ้านเมืองในขณะนั้นเสมอ พลางชวนให้คนสงสัยว่า “พระอาทิตย์ทรงกลด” คืออะไร วันนี้ ตามกระปุกดอทคอมไปหาคำตอบด้วยกันดีกว่า

 พระอาทิตย์ทรงกลด เกิดจากอะไร

พระอาทิตย์ทรงกลด (Sun Halo) เกิดขึ้นในชั้นบรรยากาศชั้นโทรโพสเฟียร์ (Troposphere) ซึ่งเป็นบรรยากาศชั้นล่างสุด และเป็นที่อยู่ของกลุ่มเมฆจำนวนมาก รวมทั้งเมฆเซอร์รัส (Cirrus Cloud) ซึ่งเป็นเมฆที่อยู่สูงขึ้นไป 5-10 กิโลเมตร

 ทั้งนี้ ในชั้นเมฆเซอร์รัสนี้จะมีอากาศเย็นจัดตั้งแต่ช่วงเช้าตรู่ก่อนพระอาทิตย์ขึ้น หากอากาศในช่วงนั้นมีละอองน้ำมาก ละอองน้ำเหล่านั้นก็จะแข็งตัวกลายเป็นเกล็ดน้ำแข็ง หรือผลึกน้ำแข็งอนุภาคเล็ก ๆ ลอยอยู่บนท้องฟ้า ซึ่งเกล็ดน้ำแข็งนี้เองจะมีลักษณะคล้ายกับอัญมณี เมื่อพระอาทิตย์ขึ้นแล้วส่องแสงมาตกกระทบกับเกล็ดน้ำแข็งในมุมที่เหมาะสม ก็จะเกิดการหักเหและสะท้อนแสงออกไป ทำให้เกิดเป็นลำแสงสีรุ้งคล้ายรุ้งกินน้ำหลังฝนตกขึ้นมา กลายเป็นปรากฏการณ์พระอาทิตย์ทรงกลดที่ส่องแสงวาบออกมาจากผลึกน้ำแข็งนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม พระอาทิตย์ทรงกลดที่เราเห็นในแต่ละครั้งอาจมีแสงสีต่างกัน ซึ่งแสงสีที่ตาเราสัมผัสได้นั้นก็ขึ้นอยู่กับการทำมุมของแสดงอาทิตย์และเกล็ดน้ำแข็ง แต่โดยทั่วไปเราจะเห็นเป็นแสงสีเหลืองอ่อน ๆ มากที่สุด และอาจเห็นเป็นสีเขียว สีแดง สีน้ำเงินปนแดงได้บ้างตามการสะท้อนของแสงในเวลานั้น และบางครั้งเกล็ดน้ำแข็งนี้จะไปหักเหทางเดินของแสงอาทิตย์ ทำให้เกิดภาพขยายขึ้น เหมือนกับที่เรามองเลนส์นูนนั่นเอง

นอกจากนี้ รูปทรงของพระอาทิตย์ทรงกลดก็ไม่จำเป็นต้องเป็นวงกลมใหญ่ล้อมรอบดวงอาทิตย์เหมือนที่คนไทยเคยเห็นจนชินตาก็ได้ เพราะยังมีพระอาทิตย์ทรงกลดเกิดขึ้นได้อีกหลายรูปแบบ

 พระอาทิตย์ทรงกลด มักปรากฏในช่วงไหน

โดยปกติแล้วพระอาทิตย์ทรงกลดเกิดขึ้นได้บ่อย แม้ว่าจะเราไม่สามารถคาดการณ์ล่วงหน้าได้ แต่ก็ทราบว่าส่วนใหญ่มักพบมากในปีที่มีฝนหลงฤดู หรือช่วงปลายฝนต้นหนาว เพราะในช่วงนั้นอากาศจะมีความชื้นมาก มีละอองน้ำในชั้นบรรยากาศมาก ทำให้เกิดปรากฏการณ์พระอาทิตย์ทรงกลดขึ้นได้

 ทั้งนี้ เวลาที่พบพระอาทิตย์ทรงกลดได้บ่อยที่สุดคือในช่วงสาย ๆ ตั้งแต่ 10 โมงไปจนถึงเที่ยงเศษ ๆ เพราะเกล็ดน้ำแข็งยังไม่ละลาย แต่หากพ้นเที่ยงวันไป เกล็ดน้ำแข็งที่ได้รับความร้อนจากแสงอาทิตย์จะละลายไปหมด ทำให้เราแทบไม่มีโอกาสเห็นปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นในช่วงบ่ายได้เลย

อีกเรื่องที่ต้องรู้ก็คือ หากวันนั้นเกิดพระอาทิตย์ทรงกลดขึ้น จะเป็นวันที่อากาศไม่ร้อนจัด และไม่มีฝนตกลงมาปุบปับอย่างแน่นอน ยกเว้นว่ามีลมพายุพัดเมฆฝนจากที่อื่นมา

sun2
พระอาทิตย์ทรงกลด

 พระอาทิตย์ทรงกลด กับความเชื่อมงคลในสังคมไทย

สำหรับในประเทศไทยแล้ว เราอาจได้ยินข่าวพระอาทิตย์ทรงกลดปรากฏขึ้นได้อยู่บ่อย ๆ ซึ่งทุกครั้งที่เกิดพระอาทิตย์ทรงกลดขึ้น ก็จะมีเสียงพูดกันปากต่อปากกันว่า วันนี้เป็นวันดี เป็นลางดี สิ่งนี้จึงถูกหยิบยกไปเกี่ยวโยงกับเหตุการณ์บ้านเมืองในขณะนั้นด้วยว่า พระอาทิตย์ทรงกลดเป็นแสงแห่งชัยชนะ จะช่วยให้บ้านเมืองหรือสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะนั้นผ่านพ้นวิกฤตได้ ซึ่งความเชื่อเหล่านี้มีมาตั้งแต่สมัยโบราณแล้ว

 หากจะถามว่าความเชื่อที่ว่าพระอาทิตย์ทรงกลดเป็นมงคลนั้นมาได้อย่างไร ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะคนไทยนับถือพระอาทิตย์เป็นเทวดาเบื้องบนองค์หนึ่ง ดังที่เราเรียกนำหน้าว่า “พระ” เช่นเดียวกับคำว่า “กลด” ที่ถือเป็นของสูงสำหรับพระ คนไทยจึงมองว่า “พระอาทิตย์ทรงกลด” เป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ แสดงถึงความเป็นสิริมงคล ถือเป็นนิมิตหมายอันดีในเรื่องต่าง ๆ ก็เป็นได้

อย่างไรก็ดี ปรากฏการณ์พระอาทิตย์ทรงกลดก็ถือเป็นเรื่องปกติที่เกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติ และทุกพื้นที่ทั่วโลกก็มีโอกาสได้สัมผัสความงดงามของปรากฏการณ์ธรรมชาตินี้เช่นกัน

อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมจาก
electron.rmutphysics.com

ขอบคุณข้อมูลจากเว็บไซต์กระปุกดอทคอม
ที่มา : http://hilight.kapook.com/view/102137

การจองตั๋วเครื่องบิน เรื่องน่ารู้สำหรับมือใหม่

เรียบเรียงจาก การจองตั๋วเครื่องบิน เรื่องน่ารู้สำหรับมือใหม่หัดบิน-มือเก่าบินเยอะ

plane1

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณข้อมูลจาก คุณ art_sarawut สมาชิกเว็บไซต์พันทิปดอทคอม  

          เพราะสถานที่ท่องเที่ยวต่าง ๆ ทั่วโลกมีอยู่มากมาย และเพื่อเป็นการประหยัดเวลา นักท่องเที่ยวหลายคนจึงมักเลือกเดินทางด้วย “เครื่องบิน” เพราะเป็นการประหยัดเวลา รวมทั้งเป็นการเซฟร่างกายให้สามารถใช้เวลาในการท่องเที่ยวได้อย่างเต็มทีอีกด้วย แต่สิ่งสำคัญในการสำรองตั๋วเครื่องบินสำหรับเดินทางในแต่ละครั้งนั้น ยังมีเพื่อน ๆ หลายคนยังไม่เข้าใจ และยังไม่ทราบข้อมูลกันอยู่ในบางขั้นตอน ดังนั้น เราหยิบเอาข้อมูลดี ๆ ของ คุณ art_sarawut สมาชิกเว็บไซต์พันทิปดอทคอม ที่ได้บอกเล่าเรื่องน่ารู้เกี่ยวกับขั้นตอนและวิธีการจองตั๋วเครื่องบินก่อนออกเดินทางแต่ละครั้งมาบอกกัน ส่วนจะมีอะไรบ้างนั้น ตามเราไปดูกันเลยจ้า


         สวัสดีครับ ผมทำงาน Ticketing อยู่สายการบินหนึ่ง และคิดว่ามีบางอย่างที่คนมาใช้บริการไม่ทราบกันเยอะพอสมควร เลยคิดว่าน่าจะนำมาเผยแพร่ แต่ท่านไหนที่เดินทางบ่อย ๆ แล้วก็คงจะทราบดีล่ะครับ เรื่องเบสิกพื้นฐาน


1. ราคาบัตรโดยสาร (ตั๋วเครื่องบิน)


         ราคาบัตรโดยสารของเครื่องบิน ไม่ใช่ราคาเดียวทั้งลำครับ นอกจากจะแบ่งเป็น “ชั้นประหยัด”กับ “ชั้นธุรกิจ” อย่างที่คนส่วนใหญ่ทราบกันดีแล้ว ในชั้นนั้นยังแบ่งราคาออกยิบย่อยอีกมากมาย ผมจะจำแนกให้ดูนะครับ เช่น สมมุติเส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ในชั้นประหยัด จะยังมีราคายิบย่อยลงมาอีก 11 ราคา ไล่จากถูก-แพง จากซ้ายไปขวาเลยครับ

          B G V Q / H T L / N K M Y

         ในกลุ่ม 4 ตัวอักษรแรก เป็น “ราคาโปรโมชั่น” ที่เห็นโปรโมทตามเว็บไซต์กับแผ่นพับนั่นล่ะครับ เช่น สมมุติ B อาจจะราคา 1,490 บาท และกลับกัน ราคา Y จะเรียกว่า “ราคาเต็ม” ราคาอาจจะราว 3,590 บาท เป็นต้น

         ราคาตั้งแต่ B ไปจนถึง Y ก็จะไล่ขึ้นไปเป็นขั้นบันได ดังนั้น เวลาผู้โดยสารจะสำรองที่นั่ง เจ้าหน้าที่จึงจะถามให้ละเอียดว่าจะเดินทางวันไหน เวลาไหน เพื่อจะได้แจ้งราคาได้ถูก เพราะแต่ละเที่ยวบินก็จะเหลือที่นั่งไม่เท่ากัน เส้นทางเดียวกันแท้ ๆ เวลาห่างกัน 2 ชั่วโมง คุณอาจได้ราคาถูกลงหรือแพงขึ้นเป็นหลักพันได้สบาย ๆ ครับ

         และราคาบัตรโดยสารโปรโมชั่น B G V Q เหล่านี้ ก็ไม่ได้มีทุกเส้นทาง หรือไม่ได้มีตลอดเวลานะครับ บางเส้นทางไม่มี บางเส้นทางอาจมีขายที่ราคาตั้งแต่ H ขึ้นมาจนถึง Y เช่นนี้เป็นต้น

         สิ่งที่พบบ่อย คือ ผู้โดยสารชอบเข้าใจผิด คิดว่ามันเหมือนราคาแบบรถทัวร์หรือรถตู้อะไรทำนองนั้น คือจะถามลอย ๆ ว่า เส้นทางนี้ราคาเท่าไหร่ ? เจ้าหน้าที่ก็จะตอบไม่ได้ เพราะไม่มีวันและเวลาที่แน่นอน อย่างที่เรียนไปข้างต้นครับ เส้นทางเดียวกันแท้ ๆ แต่ราคาอาจต่างกันถึง 2 เท่า ได้สบาย ๆ ในคนละวันเวลากันครับ

        ตรงนี้ก็คงต้องอยู่ที่ผู้โดยสารนั่นล่ะครับ ว่ากำหนดเงื่อนไขของตัวเองไว้ที่ตรงไหน ระหว่าง “วันเวลาเดินทาง” หรือ “ราคา” ถ้าราคาสำคัญ ต้องการของถูก เราก็สามารถไล่หาให้ได้ว่าวันไหนที่มีที่นั่งราคาโปรโมชั่น กลับกัน ถ้าวันเวลาเดินทางสำคัญกว่า เราก็แจ้งให้ทราบได้ว่าราคาของวันนั้น ๆ เท่าไหร่ แต่อาจจะไม่ได้ราคาโปรโมชั่นนั่นเอง

 2. ชั้นประหยัดเหมือนกันแท้ ๆ แล้วมันต่างกันยังไง ?

         สิ่งแรกและสิ่งสำคัญที่แตกต่าง ก็คือ “เงื่อนไขบัตรโดยสาร” ครับ เช่น ราคาโปรโมชั่น B คลาส ราคาต่ำสุด คุณอาจจะเปลี่ยนวัน/เวลาเดินทางไม่ได้เลย ถ้าไม่เดินทางก็ขอคืนเงินไม่ได้

         ทั้งนี้ ในส่วนของเงื่อนไขบัตรโดยสาร เราจะดูตามสิ่งที่เรียกว่า Fare Basis เช่น BFTH ตัวแรก ก็คือ คลาส B ตัวที่ 2 ตัว F จะบอกว่า Fix Flt/Date ก็คือ เปลี่ยนแปลงวันเวลาไม่ได้ และสุดท้าย TH ก็คือ การบอกว่า Fare นี้ขายในไทยนั่นล่ะครับ (ถ้าเป็นบัตรโดยสารของเด็ก ก็จะมี CH (Children) ต่อท้ายมาด้วย) หรือสมมุติ GXNTH ที่คุณจะเดินทางได้เฉพาะวันจันทร์-พฤหัสบดี เป็นต้น แต่เปลี่ยนแปลงวัน/เวลาเดินทางได้ โดยมีค่าธรรมเนียม+ส่วนต่าง ส่วนต่างนี้ ก็คือ สมมุติคุณเปลี่ยนแปลงวันเดินทาง แล้วไม่ได้ที่นั่งราคาเดิม คุณก็จะต้องชำระส่วนต่างของบัตรที่นั่งราคาใหม่นั่นเอง

         คำถามที่ว่า แล้วถ้าเปลี่ยนแล้วได้ที่นั่งถูกลงล่ะ อันนี้สายการบินไม่อนุญาตให้ downgrade นะครับ 555 ยกเว้นลดจาก Business มาเป็น Economy (ตัวเต็ม) ก็จะทำได้ และคืนส่วนต่าง

         ส่วนกรณีที่เป็นความผิดของสายการบินเอง เช่น เปลี่ยนเที่ยวบินเองเสียอย่างนั้น ตรงนี้เปลี่ยนฟรีครับ

         อีกตัวอย่างของเงื่อนไขโปรโมชั่น คือ เช่น บินไฟลท์เช้าสุด หรือดึกที่สุด ตรงนี้ก็อาจจะมีราคาโปรโมชั่นเหมือนกัน แต่อย่างที่เรียนไป คือ โปรโมชั่นต่าง ๆ ไม่ได้มีทุกเส้นทางและตลอดเวลานะครับ ต้องดูให้ดี ๆ ว่าเส้นทางไหนเวลาอะไร

         สรุปกว้าง ๆ จะแบ่งเป็น (เปลี่ยนแปลงไม่ได้/ขอคืนเงินไม่ได้), (เปลี่ยนแปลงได้มีค่าธรรมเนียม+ส่วนต่าง/ขอคืนเงินไม่ได้), (เปลี่ยนฟรี/ขอคืนเงินได้มีค่าธรรมเนียม) ตรงนี้ยังไงระหว่างการสำรองที่นั่ง เจ้าหน้าที่เขาจะแจกแจงให้ฟังเองครับ ถ้าทราบแล้วก็บอกเขาก็ได้นะ จะไม่ถือว่าเขาทำผิด แต่ถ้าเจ้าหน้าที่ลืมแจ้งเอง อันนี้จะถือว่ามีความผิดทันที

อีกความแตกต่าง ก็คือ “การเลือกที่นั่ง” ทุกราคาจะได้สิทธิ์พื้นฐานเหมือนกัน คือ เลือกที่นั่งเองได้ผ่านเว็บไซต์ หรือ Web Check-In นั่นเอง แต่ เช่น ราคาต่ำ ๆ ก็จะถูกล็อกให้นั่งเฉพาะส่วนหลังของเครื่อง เป็นต้น ส่วนพวกราคาสูง ๆ จะนั่งตรงไหนก็ได้ตามใจชอบ และถ้าหากโทรไปสำรองที่นั่งกับเจ้าหน้าที่ เจ้าหน้าที่จะเลือกที่นั่งให้ได้เฉพาะบัตรโดยสารที่ราคาสูงขึ้นไปหน่อย เช่น อาจจะตั้งแต่ H คลาสขึ้นไป ส่วนถ้าต่ำกว่านั้น เจ้าหน้าที่จะเลือกให้ไม่ได้ และจะบอกให้ผู้โดยสารไปเลือกเองผ่านเว็บไซต์ เป็นต้น

         ** ในส่วนของเงื่อนไขบัตรโดยสารของท่านนะครับ ผมแนะนำให้จำให้ดี ๆ เพราะเคยมีกรณีแบบผู้โดยสารจะเปลี่ยนแปลงเที่ยวบิน แล้วไม่พอใจที่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียม ซึ่งในระบบโชว์ไว้ชัดเจนว่าเจ้าหน้าที่แจ้งเงื่อนไขบัตรโดยสารไปแต่แรกแล้ว แต่ผู้โดยสารไม่ค่อยฟังกัน **

(* อนึ่ง ต่าง ๆ เหล่านี้อาจจะไม่เหมือนกันในแต่ละสายการบินนะครับ)

plane2


 3. เผื่อเวลานิด เวลาสำรองที่นั่ง

         เจอบ่อย ๆ ผู้โดยสารที่จะบินวันนี้ก็โทรมาจองวันนี้ แล้วก็ไม่พอใจเวลาไม่ได้ราคาโปรโมชั่นถูกสุด ๆ ตามโฆษณา ซึ่งก็อย่างที่เรียนไปแล้วครับว่าพวกราคาโปรโมชั่นมันก็หมดไว จึงควรสำรองที่นั่งแต่เนิ่น ๆ นะครับ ที่เคยเจอโหดสุด ๆ นี่ก็มี แบบจะบินในอีก 2 ชั่วโมง โทรมาสำรองที่นั่ง พระเจ้า ! ตรงนั้นเราก็ทำให้ไม่ได้แล้ว ต้องไปติดต่อหน้าเคาน์เตอร์สนามบินเองเลย ซึ่งจะทันหรือเปล่าก็ไม่รู้ เพราะขั้นต่ำมันต้องอย่างน้อย 2 ชั่วโมง คือจริง ๆ แล้ว ขนาดคนที่มีบัตรโดยสารแล้ว แค่การไปเช็กอินที่สนามบิน เขาก็ต้องไปล่วงหน้า 1 ชั่วโมง 30 นาที สำหรับในประเทศ และ 2 ชั่วโมง สำหรับต่างประเทศอยู่แล้วนะ กระชั้นชิดขนาดนั้นก็ไม่ไหวนะฮะ ยิ่งช่วงนี้มีม็อบ เราก็ได้รับการแนะนำให้แจ้งผู้โดยสารให้เผื่อเวลาเพิ่มอีก 1 ชั่วโมง อีกต่างหาก

        อีกเรื่องที่ดีสำหรับการสำรองที่นั่งล่วงหน้า ก็คือ ยิ่งทำล่วงหน้านาน ยิ่งมี “Time Limit” ในการชำระเงินมากเท่านั้น คือ ปกติเราสำรองที่นั่งไว้เก๋ ๆ แต่ไม่จ่ายเงินก็ได้นะครับ มันจะมีเส้นตายให้จ่ายเงิน ถ้าไม่จ่าย booking ก็ตัดไปเอง จบ อย่างที่หลายท่านสำรองที่นั่งกระชั้นชิดมาก ระบบก็ตั้ง Time Limit นี้กระชั้นชิดตามไปด้วย เช่น อาจจะภายใน 2 ชั่วโมง (หลังจากสำรองที่นั่งเสร็จ) บางคนก็เลยจะบ่นว่าเร็วจัง กลับกัน เช่น สมมุติว่าสำรองที่นั่งล่วงหน้า 1 อาทิตย์ ก็อาจได้เวลาในการชำระเงินเป็น 3 วัน หรือถ้าสำรองล่วงหน้าชนิด 3 เดือน ก็อาจได้เวลาในการชำระเงินยาว ๆ เป็นภายใน 21 วัน อะไรแบบนั้นเป็นต้น

 4. รายละเอียดของโปรโมชั่น

        ถ้าหากคุณบังเอิญเห็นโปรโมชั่นอะไรสักอย่างแล้วสนใจมาก แนะนำให้จำ “ชื่อโปรโมชั่น” แล้วติดต่อเจ้าหน้าที่ สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม มันจะมีสิ่งที่ต้องสนใจ ก็คือ

         1.) กรอบเวลาในการสำรองนั่ง เช่น โปรฯ นี้ต้องสำรองที่นั่งระหว่าง 15 พ.ค.-20 ก.ค. เป็นต้น นอกเหนือจากนี้ก็จะไม่ได้โปรฯ นี้

         2.) กรอบเวลาในการเดินทาง เช่น โปรฯ นี้ ต้องบินระหว่าง 20 พ.ค.-30 ก.ค. เป็นต้น ถึงสำรองที่นั่งในวันข้างบน แต่ไม่บินในกรอบวันเวลานี้ก็ไม่ได้อีก

        ตรงนี้บางทีเป็นปัญหา เพราะหลาย ๆ คนก็จำแต่ราคากับเส้นทาง ติดต่อมาก็บอกเลย โอ้ย ! เส้นทางนี้เห็นโปรฯ ราคาแค่ 1,990 บาท ไหงนี่มันตั้ง 3 พัน โดยไม่ทราบว่าโปรฯ หมดไปแล้วบ้าง หรือไม่ได้บินในกรอบเวลาของโปรฯ บ้าง ยังไงตรงนี้ผมแนะนำให้ตรวจสอบข้อมูลให้ละเอียดก่อนเดินทาง และรีบสำรองที่นั่งแต่เนิ่น ๆ เพื่อป้องกันที่เต็ม อย่าลืมนะครับ ถึงจะทำตามเงื่อนไขของโปรฯ ทุกอย่าง ก็อาจยังไม่ได้บัตรโดยสารในราคาโปรฯ เพราะเหตุผลง่าย ๆ ว่า “ที่เต็ม” เศร้ากันไปเลยนะ

        คำถามที่ก็เจอค่อนข้างบ่อยและตอบยาก คือ “เส้นทางนี้มีโปรฯ ไหม ?” มันตอบยาก เพราะไม่ระบุวันมาด้วย อย่างเช่น ถ้าเราตอบ โดยนึกเอาเองว่าเป็นวันนี้ ตอบไปว่าไม่มีโปรฯ ครับ ปรากฏว่าผู้โดยสารจะเดินทางในอีก 15 วัน ซึ่งอยู่ในช่วงโปรฯ เราก็จะซวยไปอีก ดังนั้น การสอบถามเรื่องโปรโมชั่นก็เหมือนการสำรองที่นั่งครับ คือ ควรแจ้งทั้งเส้นทางและวันที่ต้องการเดินทางไปด้วยเลย หรือถ้ามีชื่อโปรโมชั่นมา เจ้าหน้าที่ก็จะบอกเงื่อนไขโปรฯ ให้เอง

 5. เราต้อง Verify ข้อมูล

         อะไรคือการ Verify ข้อมูล ? ก็คือ กรณีที่มีคนโทรเข้ามาสอบถามเรื่อง Booking ต้องการทำการอะไรสักอย่าง ไม่ว่าจะสอบถามข้อมูล, เปลี่ยนแปลง, ยกเลิก อะไรก็ตาม มันมีผลต่อผู้โดยสาร ถูกต้องไหมครับ ? ตรงนี้ เราจะรู้ได้อย่างไรว่า “คนที่โทรเข้ามาจะเป็นผู้โดยสารตัวจริง” กันล่ะ………..?

        “แล้วคนบ้าที่ไหนจะโทรไปจัดการเรื่องการสำรองที่นั่งของคนอื่น ?” บางท่านอาจจะกำลังคิดเช่นนี้ใช่ไหมครับ

         สมมุติว่าสามีจะนั่งเครื่องบินไปเที่ยวกับภรรยาน้อย…เท่านี้คงพอเห็นภาพนะครับ ภรรยาหลวงโทรมา สอบถามวัน-เวลาเดินทาง แล้วไปดักตบที่สนามบิน…อันนี้เรื่องจริงเสียด้วยนะครับ 55555 ดังนั้น ทุกครั้งที่คนโทรเข้ามา เราก็เลยต้องถามรายละเอียดของการสำรองที่นั่งนั้น ๆ เพราะอย่างบางคนอาจจะไปแอบรู้มาแค่บางอย่าง เช่น จะไปไหน แต่ไม่รู้วัน/เวลา (ไปดักตบ) รู้แค่ชื่อ (สามี) อะไรแบบนี้

        มีหลายท่านมากกกกกกกกกกก ที่ไม่เข้าใจ บางทีกระฟัดกระเฟียดใส่เจ้าหน้าที่ แบบทำไมเนี่ยสำรองที่นั่งไปแล้ว ไม่เจออีกเหรอเนี่ย ฯลฯ คือจริง ๆ เราเจอแล้ว แต่ต้องถามน่ะครับเพื่อความปลอดภัย สิ่งที่ต้องถามก็เช่น ชื่อ/สกุลผู้โดยสาร, เส้นทาง, วัน-เวลา แค่นี้ก็ถือว่าผ่านแล้ว

        ในทางตรงกันข้าม ถ้าเจ้าหน้าที่ไม่ถามข้อมูลแล้วทำอะไรลงไป ซึ่งบางทีมันมากกว่าแค่การให้ข้อมูล เช่น อาจจะยกเลิกเที่ยวบิน, เปลี่ยนแปลงเวลาบิน คิดดูนะครับอันนี้เรื่องใหญ่เลย ดังนั้น เจ้าหน้าที่จึงต้อง “Verify” ข้อมูลก่อนทุกครั้งนั่นเอง เสียเวลาไม่กี่วินาที หวังว่าคงเข้าใจนะครับ

 6. นอกเรื่อง

         เจ้าหน้าที่ Ticketing ไม่ได้ Commission นะครับ 555 ไม่มี incentive ด้วย และไม่มี “เป้า” หรือ “ยอด” อีกด้วย ดังนั้น ถ้าเราแนะนำว่าให้สำรองที่นั่งอะไรแบบนี้ ก็ขอให้เชื่อได้เลยว่าแนะนำเพราะหวังดีจริง ๆ เราไม่มีส่วนได้ส่วนเสียนะครับ 5555

         ถ้าผู้โดยสารเป็นสมาชิกอะไรสักอย่างของสายการบิน บอกเลขสมาชิกเลยก็ง่ายดีนะครับ บางทีอย่างผมเองไม่ได้ถาม ก็ทำไปจนเสร็จ ผู้โดยสารเพิ่งนึกได้บอกเลขสมาชิกมา อ้าว ! ดันสะกดชื่อไม่ตรงกันกับที่เขาบอกมาตะกี้ มึนเลยทีนี้

         พูดถึงเรื่องชื่อ ถ้าจะสำรองที่นั่ง แนะนำให้ถือบัตรประชาชนไว้เลยครับ เราต้องการชื่อสะกดเป็นภาษาอังกฤษที่ตรงกับบัตรประชาชนหรือพาสปอร์ต แล้วเจ้าหน้าที่เค้าจะทวนให้เอง เป็น alphabet แบบ “ชื่อคุณธวัชชัยนะคะ สะกดเป็น ที ไทยแลนด์, เอช ฮ่องกง, เอ อเมริกา…” ประมาณนี้ ตรงนี้ตอนเจ้าหน้าที่ทวน แนะนำให้ตั้งใจฟังนะครับ ระวังชื่อผิดนะ

         อีกเรื่องที่เคยโดนถามพอสมควร คือ สามารถเปลี่ยนชื่อผู้โดยสารได้หรือไม่ คำตอบ คือ ไม่ได้ นะครับ ชื่อใครอยู่บนบัตรโดยสาร คนนั้นต้องบินเองเท่านั้น ไม่มียกสิทธิ์ให้คนอื่นนะ

         ถ้าคุณมีกระเป๋าราคาแพง หรือกีตาร์สุดหวง คุณสามารถ “ซื้อที่นั่ง” ให้สิ่งของเหล่านั้นได้นะครับ (รวยเสียอย่างทำอะไรไม่น่าเกลียดนะครับ 5555)

         ไม่อนุญาตให้สัตว์อื่นนอกจาก “สุนัข” กับ “แมว” ขึ้นเครื่องนะครับ (อาจจะแล้วแต่สายการบินด้วยนะ)

         ถ้าการสำรองที่นั่งของคุณ “จัดเต็ม” มาก เช่น อาจจะ 8 คน 3 บุ๊คกิ้ง ไปด้วยกัน แยกกันกลับ คนละเส้นทาง คนละวัน/เวลา มีครบทั้งผู้ใหญ่, เด็ก, ทารก ขออาหาร, ขอวีลแชร์, ขอเลือกที่นั่ง ฯลฯ รายละเอียดเยอะหน่อย ก็อาจจะใช้เวลานิดนึงในการสำรองที่นั่งนะครับ ใจเย็น ๆ นิดนึง คือจะบอกว่าการสำรองที่นั่ง ทุก ๆ รายละเอียดนี่เราต้องใส่หมดเลย เป็นเด็กก็อย่างหนึ่ง ทารกก็อย่างหนึ่ง ไปด้วยกันก็ต้องใส่ข้อมูล ขออาหารก็ต้องใส่ ขอวีลแชร์ อะไรต่าง ๆ เหล่านี้มันจะค่อนข้างละเอียดและผิดพลาดไม่ได้ เจ้าหน้าที่เลยอาจจะต้องใช้เวลาบ้างนะครับ ปกติถ้าอย่างง่าย ๆ เลยแค่ไม่ถึง 5 นาที ก็เสร็จครับ

ขอบคุณข้อมูลจากเว็บไซต์ กระปุกดอมคอม
ที่มา : http://travel.kapook.com/view88398.htm