Monthly Archives: กุมภาพันธ์ 2013

สุดไฮเทค! ไต้หวันเปิดตัวโทรศัพท์โปร่งแสง เตรียมจำหน่ายในปีนี้

เรียบเรียงจาก สุดไฮเทค! ไต้หวันเปิดตัวโทรศัพท์โปร่งแสง เตรียมจำหน่ายในปีนี้

สุดไฮเทค! ไต้หวันเปิดตัวโทรศัพท์โปร่งแสง เตรียมจำหน่ายในปีนี้
.
สุดไฮเทค! ไต้หวันเปิดตัวโทรศัพท์โปร่งแสง เตรียมจำหน่ายในปีนี้
.
สุดไฮเทค! ไต้หวันเปิดตัวโทรศัพท์โปร่งแสง เตรียมจำหน่ายในปีนี้

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม
ขอขอบคุณภาพประกอบจาก คุณ didyouknowclips สมาชิกเว็บไซต์ยูทูบดอทคอม , คุณ isthereanythathasnt4 สมาชิกเว็บไซต์ยูทูบดอทคอม

       ในยุคนี้ที่ใคร ๆ ก็หันมาใช้สมาร์ทโฟนกันทั้งนั้น ทำให้ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนหลายแห่งต้องเร่งพัฒนาสมาร์ทโฟนออกมาแข่งขันกันตีตลาดมากมายหลายรุ่น จนทำให้สมาร์ทโฟนกลายเป็นเทคโนโลยีที่อัจริยะขึ้นเรื่อย ๆ ล่าสุด ผู้ผลิตสมาร์ทโฟนรายหนึ่งก็ได้คิดค้นสมาร์ทโฟนรูปบบใหม่ออกมาเช่นกัน คราวนี้ถึงขั้นเป็นสมาร์ทโฟนโปร่งแสง สร้างความฮือฮาให้แก่วงการไอทีอย่างมาก เพราะถือได้ว่าเป็นโทรศัพท์เคลื่อนที่โปร่งแสงรายแรกในโลกเลยทีเดียว

       เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2556 เว็บไซต์เทเลกราฟของอังกฤษ รายงานว่า บริษัทโพลีตรอน เทคโนโลยี ผู้ผลิตโทรศัพท์เคลื่อนที่ของสหรัฐฯ ที่อยู่ในไต้หวัน ประกาศตัวว่า สามารถพัฒนาโทรศัพท์เคลื่อนที่โปร่งแสงเต็มรูปแบบได้เป็นรายแรก หลังใช้เวลาค้นคว้าพัฒนามาถึง 6 ปี โดยคาดว่าจะสามารถออกจำหน่ายได้ภายในสิ้นปีนี้

       โดย บริษัทโพลีตรอน เทคโนโลยี ระบุว่า การใช้งานโทรศัพท์โปร่งแสงนี้ใช้งานได้เหมือนกับสมาร์ทโฟนทั่วไป กระจกที่นำมาใช้ผลิตโทรศัพท์จะเป็นกระจกที่เป็นสื่อนำพลังงาน มีความทนทานต่อการกระแทกและการขีดข่วนสูง มีน้ำหนักเบาและมีความหนาเพียงครึ่งเซนติเมตร โดยทุกชิ้นส่วนจะโปร่งแสงหมด ยกเว้นแบตเตอรี่ที่บริษัทไม่สามารถทำให้โปร่งแสงได้ ดังนั้น บริษัทจึงกำลังหาทางทำให้มันมีขนาดที่เล็กลง

       และหากเปรียบเทียบกับ iPhone 5 โทรศัพท์โปร่งแสงนี้จะมีความเบากว่า 25 เปอร์เซ็นต์ และมีหน้าจอกว้างกว่า 0.3 นิ้ว แถมยังเป็นจอสัมผัสได้ทั้งด้านหน้าและหลัง และที่สำคัญทางบริษัทยังย้ำด้วยว่า ราคาจำหน่ายจะถูกกว่า iPhone 5 อย่างแน่นอน

ขอบคุณข้อมูลดีๆจากเว็บไซต์กระปุกดอทคอม
ที่มา : http://men.kapook.com/view57187.html

เผยเคล็ดลับการกินเพื่อหุ่นสุดเป๊ะของนายแบบ

เรียบเรียงจาก เผยเคล็ดลับการกินเพื่อหุ่นสุดเป๊ะของนายแบบ

ขอขอบคุณภาพประกอบจาก menshealth.co.uk

        คุณเคยสงสัยไหมว่า พวกนายแบบหน้าหล่อหุ่นเฟิร์มทั้งหลายแหล่เนี่ย เขามีเทคนิคอย่างไรบ้าง ถึงรักษาหุ่นให้ดูล่ำฟิตเปรี๊ยะสาวกรี๊ดกันได้ขนาดนี้ ทั้ง ๆ ที่ก็เป็นคนที่ต้องกินต้องดื่มไม่ต่างจากเราซะหน่อย เอ้า! ถ้าคุณอยากรู้ล่ะก็ ลองมาอ่านเคล็ดลับรักษาหุ่นนายแบบจากเว็บไซต์ Men’s Health ที่กระปุกดอทคอมหยิบมาฝากกันดูสิ แล้วจะรู้ว่าคุณเองก็มีหุ่นนายแบบกับเขาได้เหมือนกัน

     1. ต้องกินอาหาร

        แม้แต่นายแบบหุ่นฟิตเปรี๊ยะที่คุณปลื้มนักหนาอยากได้หุ่นแบบเขาเนี่ย ก็ต้องกินอาหารเหมือน ๆ กับเรานั่นแหละ ไม่ได้อดข้าวอดน้ำกันสักหน่อย โดยต้องกินอาหารให้ครบ 5 หมู่ และออกกำลังกายเสริมหุ่นควบคู่กันไปด้วย เพราะถ้าคิดจะออกกำลังให้ได้ผล ร่างกายก็ต้องการพลังงานมาใช้เผาผลาญด้วยเหมือนกัน เพราะฉะนั้นใครที่กำลังคิดจะอดข้าวลดน้ำหนัก เลิกซะเถอะครับ

     2. กินให้เป็นเวลา

        จริง ๆ แล้วคนเราไม่ได้จำเป็นต้องกินข้าวแค่ 3 มื้อหรอกนะ แต่ควรกินทุก ๆ 3 ชั่วโมงต่างหาก ดังนั้นควรแบ่งมื้ออาหารของคุณออกเป็น 5 มื้อ หรือจะทานมื้อหลัก 3 มื้อ แล้วค่อยทานพวกของจุกจิกระหว่างมื้อเอาก็ได้ เพราะวิธีนี้จะช่วยให้คุณอิ่มท้องไม่หงุดหงิดโมโหง่าย และทำให้ร่างกายได้รับโปรตีนมากเพียงพอจะเอาไปสร้างกล้ามเนื้อได้ยังไงล่ะ อ้อ..แต่ของจุกจิกที่ว่าต้องไม่ใช่ขนมน้ำตาลเยอะที่ให้พลังงานมากเกินไปด้วยนะ

     3. เลี่ยงคาร์โบไฮเดรต
         พวกอาหารที่เต็มไปด้วยคาร์โบไฮเดรตเช่น แป้งและน้ำตาล นับว่าเป็นตัวทำลายหุ่นสุดเฟิร์มของคุณก็ว่าได้ เพราะฉะนั้นพยายามกินให้น้อย ๆ หน่อย โดยเฉพาะช่วงหลัง 6 โมงเย็นนี่ห้ามกินเลย แต่ไม่ต้องถึงกับเลิกไปเลยหรอกนะ เพราะยังไงร่างกายก็ต้องการสารอาหารครบ 5 หมู่อยู่ดีนั่นแหละ
     4. เน้นโปรตีน
        สำหรับคนที่คิดจะฟิตหุ่นแล้ว ควรเลือกกินอาหารที่ให้โปรตีนมาก ๆ เช่น เนื้อสัตว์และไข่ขาวเป็นพิเศษ เพราะโปรตีนถือเป็นสารอาหารที่สำคัญในการเสริมสร้างกล้ามเนื้อ โดยร่างกายต้องการโปรตีนราว 2 กรัมต่อน้ำหนัก 1 กิโลกรัม เพื่อจะใช้กระชับสัดส่วนให้มีหุ่นเฟิร์มมากขึ้น อ้อ..แต่ต้องจำไว้ด้วยล่ะว่าอย่าเอาแต่กินเฉย ๆ ต้องกินโปรตีนควบคู่กับการออกกำลังกายไปด้วยถึงจะได้ผล

     5. กินผักเยอะ ๆ

        เจ้าผักเหม็นเขียวที่บางคนร้องยี้นี่แหละ ที่จะช่วยลดน้ำหนักไม่ให้คุณมีหุ่นอ้วนกลมไม่น่ามองอีกต่อไป จากการที่ไฟเบอร์ซึ่งมีมากในผักมีประโยชน์มากมาย ช่วยให้หัวใจแข็งแรง ป้องกันโรคภัยต่าง ๆ ช่วยในการขับถ่าย แถมยังทำให้คุณอิ่มท้องได้มากโดยไม่ต้องกลัวอ้วนอีกต่างหาก รู้แบบนี้แล้วก็อย่าลืมกินเมนูผักกันเป็นประจำด้วยล่ะ

     6. เพลา ๆ แอลกอฮอล์ลงหน่อย

        รู้ไว้นะว่าเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทั้งหลายแหล่ ที่คุณมักดื่มเยอะซะอย่างกับเป็นน้ำเปล่าเนี่ย เป็นตัวการทำร้ายหุ่นของคุณสุด ๆ เลยล่ะ ซึ่งเวลาที่คุณทานอาหารพร้อม ๆ กับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไปด้วย ร่างกายจะพยายามดูดซับแอลกอฮอล์ก่อน จนส่งผลให้ย่อยอาหารได้ช้าลงด้วย แบบนี้แล้วความอ้วนจะออกไปไหนเสียล่ะ แถมแอลกอฮอล์ยังทำร้ายสุขภาพของคุณอีกด้วยนะ อีกทั้งจะทำให้หน้าแก่ แล้วยังความจำไม่ค่อยดี หลง ๆ ลืม ๆ อีก

     7. กินไขมันเสียบ้าง

        คุณได้ยินไม่ผิดหรอก เราบอกให้ทานไขมันในแต่ละวันด้วยจริง ๆ เพราะถึงแม้ไขมันจะเป็นตัวการทำให้อ้วน แต่ร่างกายของเราก็ต้องการมันด้วยเหมือนกัน โดยสมองของคนเราก็มีไขมันอยู่ถึง 70% แล้ว ยิ่งไปกว่านั้นฮอร์โมนเทสโทสเตอโรนยังสร้างขึ้นมาจากไขมันอีกต่างหาก มันจึงเป็นสารอาหารที่สำคัญกับเราไม่แพ้อย่างอื่นเลย และถ้าคุณไม่ทานไขมันเข้าไปบ้าง พอทานขึ้นมาสักครั้งร่างกายก็จะยิ่งกักตุนไขมันที่ได้เอาไว้ เพราะไม่รู้ว่าจะได้กินอีกเมื่อไหร่ด้วย แบบนี้แล้วถ้าเกิดตบะแตกกินพิซซ่าขึ้นมาสักชิ้น ไม่แย่หรอกเหรอ ดังนั้นทานน้อย ๆ แต่ให้สม่ำเสมอดีกว่านะ        เห็นไหมล่ะว่าการจะมีหุ่นหล่อล่ำเหมือนพวกนายแบบเนี่ย ไม่จำเป็นต้องอดข้าวอดน้ำหรือทานแต่อาหารเดิม ๆ ซ้ำซากให้ทรมานเลย เพียงแค่เลือกกินให้ถูกก็ใช้ได้แล้ว

ขอบคุณข้อมูลดีๆจากเว็บไซต์กระปุกดอทคอม

ที่มา : http://men.kapook.com/view56915.html

โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง เอ็มจี – เอแอลเอส

เรียบเรียงจาก โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง เอ็มจี – เอแอลเอส อันตรายแค่ไหนนะ?

โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง เอแอลเอส

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

       หลายคนคงทราบข่าวที่ดาราสาว โอ๋ ภัคจีรา ป่วยด้วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ประเภทมัยแอสทีเนีย กราวิส หรือ โรคเอ็มจี มานานแล้ว ซึ่งโรคนี้ทำให้เธอมีอาการอ่อนแรงที่ใบหน้า แขนขา และมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย โดยในตอนนั้นแพทย์ไม่แนะนำให้ โอ๋ ตั้งครรภ์ เพราะกลัวว่าลูกในครรภ์จะติดโรคนี้จากเธอด้วย แต่ทว่า…เป็นเพราะสาวโอ๋อยากมีลูกมาก จึงตัดสินใจมีลูกตามธรรมชาติ ทำให้ตลอดระยะเวลาที่ตั้งครรภ์ เธอต้องอยู่ในความดูแลของแพทย์เป็นอย่างดี จนกระทั่งคลอด “น้องแสนดี” ลูกสาวคนแรกออกมาเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา

       ทั้งนี้ แม้ว่า น้องแสนดี เมื่อแรกคลอดจะมีสุขภาพแข็งแรงดี แต่หลังจากตรวจสุขภาพอย่างละเอียดแล้ว กลับพบว่า น้องแสนดี ติดโรคเอ็มจีมาจากคุณแม่ด้วย แพทย์จึงต้องนำตัวเข้าห้องไอซียูสำหรับเด็กโดยทันที ขณะที่ สาวโอ๋ ก็ต้องหลั่งน้ำตาสงสารลูก แต่ก็ได้กำลังใจที่ดีจากครอบครัวและเพื่อน ๆ ที่จะต่อสู้กับโรคนี้ไปพร้อม ๆ กัน

       เรื่องราวของสาวโอ๋ และน้องแสนดี ที่ป่วยด้วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอ็มจีนี้ ทำให้หลายคนอยากรู้ขึ้นมาทันทีว่า โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ประเภทเอ็มจี คือโรคอะไร ต่างกับโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง เอแอลเอส ที่คนส่วนใหญ่ได้ยินชื่อมากกว่าอย่างไร กระปุกดอทคอม จึงนำข้อมูลเกี่ยวกับโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง เอแอลเอส และโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง เอ็มจี มาบอกต่อกัน โดยก่อนอื่น เรามารู้จักโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง เอ็มจี แบบที่สาวโอ๋เป็นกันก่อนค่ะ

โรคมัยแอสทีเนีย กราวิส

       สำหรับ โรคมัยแอสทีเนีย กราวิส (myasthenia gravis) หรือ โรคเอ็มจี ฟังชื่อแล้วดูแปลก ๆ ไปสักนิด นั่นเพราะเป็นชื่อภาษากรีกและละติน มีความหมายว่า “grave muscular weakness” เป็นโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง ประเภทหนึ่ง มักเกิดกับกล้ามเนื้อเล็ก ๆ บริเวณใบหน้า โดยมีการทำงานสื่อสารกันระหว่างเส้นประสาท และกล้ามเนื้อลายผิดปกติ ทำให้เกิดกล้ามเนื้ออ่อนแรง

       ทั้งนี้ โรคมัยแอสทีเนีย กราวิส ไม่ใช่โรคใหม่ แต่เป็นโรคที่มีมานานแล้ว โดยมีการบันทึกว่าพบผู้ป่วยโรคมัยแอสทีเนีย กราวิส มาตั้งแต่ 300 ปีก่อน

มักพบโรคมัยแอสทีเนีย กราวิส ในกลุ่มใด

       โรคมัยแอสทีเนีย กราวิส มักเกิดกับผู้ใหญ่ และพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย แต่หากอาการของโรคมัยแอสทีเนีย กราวิส เริ่มเป็นหลังอายุ 40 ปี จะพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิง

อาการของโรคมัยแอสทีเนีย กราวิส

       ผู้ป่วยโรคมัยแอสทีเนีย กราวิส จะมีอาการหนังตาตก ตาพร่ามัว พูดไม่ชัด เคี้ยวและกลืนลำบาก เพราะมีการอ่อนแรงของกล้ามเนื้อใบหน้า

       แต่หากเป็นมากก็อาจทำให้กล้ามเนื้อทั้งตัว เช่น กล้ามเนื้อแขนและขาอ่อนแรงลงได้ รวมทั้งกล้ามเนื้อที่เกี่ยวกับระบบหายใจ ทำให้หายใจลำบาก ไอไม่ได้ หรือหากรุนแรงมาก ๆ สามารถทำให้ระบบหายใจล้มเหลวได้เลยทีเดียว แต่สำหรับกล้ามเนื้อหัวใจและกล้ามเนื้อเรียบต่าง ๆ ในร่างกายจะไม่ได้รับผลกระทบไปด้วย

โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง หรือ โรคเอ็มจี

โรคมัยแอสทีเนีย กราวิส หรือ โรคเอ็มจี

       โรคมัยแอสทีเนีย กราวิส จัดเป็นโรคเรื้อรัง อาการต่าง ๆ มักเป็น ๆ หาย ๆ อยู่ตลอดเวลา และอาการจะดีขึ้นเองหลังจากหยุดพักใช้งาน แต่มีปัจจัยหลายอย่างที่ทำให้อาการโรคนี้รุนแรงขึ้น ได้แก่ การติดเชื้อ เป็นไข้ ร้อนหรือเย็นเกินไป เครียด ออกแรงมากเกินไป มีประจำเดือน ตั้งครรภ์ โรคเกี่ยวกับไทรอยด์ และการทานยาบางชนิด

       ทั้งนี้ ผู้ป่วยโรคมัยแอสทีเนีย กราวิส ส่วนใหญ่จะมีอาการอย่างค่อยเป็นค่อยไป โดยใช้เวลาเป็นสัปดาห์จนถึงเดือน แต่ในบางรายอาจมีอาการรุนแรงฉับพลันได้ เช่น มีภาวะหัวใจล้มเหลว โดยมักมีอาการเปลี่ยนแปลงได้มากในช่วง 4 ปีแรก และมีอาการรุนแรงมากในช่วง 3 ปีแรก แต่หลังจากนั้นอาการจะคงที่ และค่อย ๆ ดีขึ้น โดยใช้เวลาเป็นปี ๆ หากได้รับการวินิจฉัย และการรักษาที่ถูกต้อง

       นอกจากนี้ ในเด็กบางคนที่เป็นโรคมัยแอสทีเนีย กราวิส ตั้งแต่เกิด จะมีอาการแขนขาอ่อนแรง และขยับได้น้อย ส่วนเด็กที่เกิดจากมารดาที่เป็นโรคนี้ จะมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงตั้งแต่แรกคลอด และเป็นอยู่ราว 2 สัปดาห์ ก่อนจะหายได้เอง

สาเหตุของโรคมัยแอสทีเนีย กราวิส

มีสาเหตุ 4 ประการที่ทำให้เกิดโรคมัยแอสทีเนีย กราวิส ได้ คือ

 1. ร่างกายผู้ป่วยสร้างแอนติบอดี้ต่อโปรตีนชนิดหนึ่ง ซึ่งทำหน้าที่เป็นตัวรับสารอะซิติลโคลีน โดยมักพบว่า ในตัวผู้ป่วยโรคมัยแอสทีเนีย กราวิส จะมีโปรตีนตัวรับสารอะซิติลโคลีนน้อยกว่าคนปกติถึงหนึ่งในสาม เพราะร่างกายสร้างแอนติบอดี้มากำจัดโปรตีนชนิดนี้ไปเกือบหมด

 2. สารอะซิติลโคลีน ซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อการหดตัวของกล้ามเนื้อ ไม่สามารถทำงานได้ แม้ร่างกายจะหลั่งสารนี้ออกมาอย่างปกติ เนื่องจากโปรตีนตัวรับถูกทำลายโดยแอนติบอดี้ที่ร่างกายสร้างขึ้น

 3. กรรมพันธุ์ พบผู้ป่วยโรคมัยแอสทีเนีย กราวิส บางรายมีญาติพี่น้องป่วยเป็นโรคเดียวกันนี้เช่นกัน แม้ส่วนใหญ่จะพบว่า โรคมัยแอสทีเนีย กราวิส มักเกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายก็ตาม

 4. ความผิดปกติของต่อมไธมัส ทำให้เกิดโรคมัยแอสทีเนีย กราวิส ได้เช่นกัน โดยพบว่า เกิดจากเนื้องอกถึงร้อยละ 10 และเกิดจากต่อมไธมัสโตผิดปกติมากถึงร้อยละ 70 ซึ่งจะทำให้เกิดการสร้างแอนติบอดี้ต่อโปรตีนตัวรับสารอะซิติลโคลีนในปริมาณ สูง จึงส่งผลต่อการหดตัวของกล้ามเนื้อตามมา ดังนั้น จึงมักพบผู้ป่วยที่อายุระหว่าง 30-60 ปี ราวร้อยละ 20 มีอาการเนื้องอกที่ต่อมไธมัสด้วย

การวินิจฉัย โรคมัยแอสทีเนีย กราวิส

       แพทย์จะวินิจฉัยโดยการซักถามประวัติอย่างละเอียด และตรวจร่างกายระบบต่าง ๆ รวมทั้งระบบประสาท และทดสอบด้วยวิธีอื่น ๆ เพิ่มเติม เพื่อยืนยันว่าเป็นโรคมัยแอสทีเนีย กราวิส หรือไม่

การรักษา โรคมัยแอสทีเนีย กราวิส

       มักพบผู้ป่วยโรคมัยแอสทีเนีย กราวิส มีอาการร่วมกับโรคลูปัส (โรคเอสแอลอี หรือโรคพุ่มพวง) โรคข้ออักเสบรูมาตอยด์ หรือโรคเบาหวานประเภทที่หนึ่ง โดยในสมัยก่อนผู้ป่วยโรคนี้มีอัตราการเสียชีวิตสูงมาก แต่เมื่อค้นพบยารักษาโรคได้ จึงทำให้อัตราการตายของผู้ป่วยโรคนี้ลดลง

โดยโรคนี้สามารถรักษาได้ด้วย

 การให้ยาต้านฤทธิ์ของเอนไซม์โคลีนเอสเทอเรส ทำให้สารอะซิติลโคลีนไม่ถูกทำลาย และการที่มีสารนี้อยู่นานขึ้น ก็สามารถจับกับตัวรับได้มากขึ้น ช่วยให้ออกฤทธิ์ได้ดีขึ้น

 การให้ยาในกลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ ช่วยให้อาการดีขึ้นหรืออาการหายขาดได้มากถึงร้อยละ 75 ของผู้ป่วยทั้งหมด

 การให้ยากดภูมิคุ้มกัน

 การให้ยาอิมมูโนโกลบูลินชนิดฉีดเข้าเส้นเลือด

 การผ่าตัดต่อมไธมัส

 การเปลี่ยนถ่ายพลาสมา

 การรักษาทางกายภาพบำบัดในการป้องกันปัญหาข้อติดและช่วยฝึกการหายใจ

       โดยสรุปแล้ว โรคมัยแอสทีเนีย กราวิส เป็นโรคที่เกิดการความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ซึ่งเราคงไม่สามารถป้องกันได้อย่างร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่หากใครเป็นโรคนี้แล้ว ก็สามารถรักษาให้หายได้ ถ้าได้รับคำแนะนำ และการรักษาจากแพทย์อย่างถูกวิธี

โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง

       รู้จักโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง มัยแอสทีเนีย กราวิส หรือโรคเอ็มจี ที่สาวโอ๋ป่วยกันไปแล้ว ทีนี้ เราลองมารู้จัก โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง เอแอลเอส ที่ใครหลายคนอาจจะเคยได้ยินกันบ้างว่าคือโรคอะไร

       สำหรับโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง เอแอลเอส นั้น คำว่า เอแอลเอส ย่อมาจาก Amyotrophic Lateral Sclerosis (ALS) ไม่จัดว่าเป็นโรคของกล้ามเนื้อโดยตรง แต่เป็นโรคที่เกิดจากการเสื่อมสลายของเซลล์ประสาทที่ควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อ หรือความผิดปกติของเซลล์ประสาทนำคำสั่ง จึงทำให้กล้ามเนื้อตามแขนและขาอ่อนแรงลง กลืนลำบาก พูดไม่ชัด โดยเซลล์เหล่านี้มีอยู่ในไขสันหลังและสมอง เมื่อเซลล์เสื่อม มันจะค่อย ๆ ตายไปในที่สุด

       ในทางการแพทย์อาจเรียกชื่อโรคนี้อีกชื่อว่า “โรคของเซลล์ประสาทนำคำสั่ง (motor neuron disease; MND) หรือ โรคเซลล์ประสาทนำคำสั่งเสื่อม” ขณะที่ในสหรัฐอเมริกาจะรู้จักกันดีในชื่อว่า “Lou Gehrig’s Disease” (ลู-เก-ริก) ซึ่งตั้งชื่อโรคตามชื่อนักเบสบอลที่มีชื่อเสียงที่เป็นโรคนี้ในปี ค.ศ. 1930

icon ใครคือกลุ่มเสี่ยงโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง เอแอลเอส

       จากสถิติผู้ป่วยโรคนี้ทั่วโลก พบว่า มีผู้ป่วยโรคนี้ไม่มากนัก โดยในประชากร 100,000 คน จะพบคนป่วยโรคนี้เพียง 4-6 คนเท่านั้น ขณะที่ในประชากร 100,000 คน จะมีโอกาสพบผู้ป่วยรายใหม่ เพียง 1.5-2.5 คนต่อปีเท่านั้น โดยพบในผู้ที่มีอายุมากมากกว่าในคนอายุน้อย เพราะอายุเฉลี่ยของผู้ป่วยโรคนี้อยู่ระหว่าง 60-65 ปี และพบในเพศชายมากกว่าเพศหญิงประมาณ 1.5 เท่า

        อย่างไรก็ตาม จากประวัติผู้ป่วยโรคเอแอลเอส ร้อยละ 90 ยังไม่พบข้อมูลที่แน่ชัดโรคนี้เกี่ยวข้องกับทางพันธุกรรม แต่ที่ผ่านมา มักพบนักกีฬาที่ต้องมีการปะทะป่วยเป็นโรคนี้กันมาก เช่น นักเบสบอล นักฟุตบอล แม้กระทั่งนักมวย อย่าง “พเยาว์ พูลธรัตน์” วีรบุรุษผู้คว้าเหรียญรางวัลจากการแข่งขันโอลิมปิกเป็นคนแรกให้กับประเทศไทย ก็ต้องจบชีวิตลงด้วยโรคนี้

icon สาเหตุของโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง เอแอลเอส

       แม้วิทยาการสมัยใหม่จะก้าวหน้าไปมาก แต่จนถึงปัจจุบัน ทางการแพทย์ก็ยังไม่ทราบสาเหตุของการเกิดโรคนี้ที่แน่ชัด แม้ที่ผ่านมาจะพบนักกีฬาเป็นโรคนี้หลายคน แต่ก็ยังไม่มีหลักฐานพิสูจน์ว่า นักกีฬามีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดโรคนี้ได้มากกว่าอาชีพอื่น ๆ

       อย่างไรก็ตาม จากสมมติฐานเชื่อว่า มีหลายปัจจัยที่ก่อให้เกิดโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรงเอแอลเอสขึ้น เช่น การมีปัจจัยบางอย่างทางพันธุกรรม ที่ทำให้เซลล์ประสาทนำคำสั่งมีโอกาสเสื่อมได้ง่ายกว่าบุคคลอื่น รวมทั้งปัจจัยทางสิ่งแวดล้อมที่มีการปนเปื้อนของสารพิษ เช่น ยาฆ่าแมลง สารโลหะหนัก รังสี หรือการติดเชื้อไวรัสบางชนิดมาช่วยกระตุ้นส่งเสริมให้เซลล์ประสาทนำคำสั่งเกิดการทำงานผิดปกติ

       นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยเรื่องอายุ เพราะอายุที่มากขึ้นจะทำให้ไมโตคอนเดรีย (mitochondria) ซึ่งเป็นตัวที่คอยสร้างพลังงานให้กับเซลล์เกิดความผิดปกติขึ้น จึงทำให้เซลล์ในร่างกายมีการเสื่อมสลายลงไปตามกาลเวลาด้วย แต่อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเพียงสมมติฐานที่ยังไม่ได้รับการพิสูจน์ที่แน่ชัด

       ทั้งนี้ ปัจจุบันเชื่อกันว่า สาเหตุของโรคนี้อาจเกิดจากกลไกภูมิคุ้มกันต่อตนเองผิดปกติ (Autoimmune attack) หรือเกิดจากกลไกอนุมูลอิสระ (Free radicals) ทำลายเซลล์ประสาทของตนเอง ส่วนอีกทฤษฎีหนึ่งเชื่อว่า การเสื่อมสลายของเซลล์ประสาทในสมองและไขสันหลังเกิดจากสารสื่อนำกระแสประสาท (neurotransmitter) ที่เรียกว่ากลูตาเมต (glutamate) กระตุ้นให้เกิดการทำลายเซลล์

โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง

icon อาการของโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง เอแอลเอส

       จากชื่อโรคก็พอจะทราบอยู่แล้วว่า ผู้ป่วยจะมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง โดยจะเริ่มอ่อนแรงตามมือ แขน ขา หรือเท้าข้างใดข้างหนึ่งก่อน เช่น เดินแล้วล้มบ่อย สะดุดบ่อย ยกแขนไม่ขึ้น กำมือถือของไม่ได้ หยิบจับของเล็ก ๆ ได้ลำบาก ลุกนั่งลำบาก ใส่รองเท้าแตะแล้วหลุดง่าย จากนั้นอาการจะเริ่มหนักขึ้นจนลามไปทั้ง 2 ข้าง ผู้ป่วยอาจมีอาการกล้ามเนื้อลีบ หรือกล้ามเนื้อเต้นร่วมด้วย หากเป็นนานเข้าจะมีอาการกลืนอาหารลำบาก สำลักง่าย พูดไม่ชัด พูดเหมือนลิ้นแข็ง ลิ้นลีบ แขนขาลีบ แต่จะไม่มีอาการชา ยังสามารถกลอกตาไปมาได้ กลั้นปัสสาวะ-อุจจาระได้ตามปกติ และมีสติสัมปชัญญะดี

       อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยหลายรายไม่รู้สึกถึงความผิดปกติของตัวเอง และปล่อยอาการต่าง ๆ ไว้นาน เพราะคิดว่าเป็นโรคอื่น กว่าจะมาพบแพทย์ก็มีอาการหนักแล้ว เช่น กระบังลมอ่อนแรง จนไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ เพราะมีอาการเหนื่อยง่าย โดยเฉพาะเวลานอนราบหรือมีอาการต้องตื่นกลางดึก เพราะมีอาการเหนื่อย หอบ หายใจลำบาก สุดท้ายจะไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้เลย และไม่สามารถกลืนอาหารและน้ำได้ด้วย ต้องให้อาหารทางสายยางผ่านจมูกหรือทางหน้าท้อง และต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ

       สุดท้ายแล้ว หากอาการหนักมาก ๆ ผู้ป่วยจะเสียชีวิตในที่สุด เพราะระบบหายใจล้มเหลว และเกิดการติดเชื้อในปอด เพราะสำลักน้ำและอาหาร ระยะเวลาโดยเฉลี่ย ตั้งแต่เริ่มมีอาการจนถึงเสียชีวิต อาจกินเวลาตั้งแต่ 2 ปี ถึง 4 ปี อย่างไรก็ตามผู้ป่วยบางรายอาจมีการดำเนินโรคสั้นหรือยาวกว่านี้ได้ โดยผู้ป่วยที่มีแนวโน้มเสียชีวิตเร็ว ได้แก่ ผู้ป่วยเพศหญิง ผู้ป่วยที่เริ่มเป็นโรคเมื่ออายุมากแล้ว หรือมีอาการกลืนลำบาก สำลักง่าย และพูดไม่ชัดเป็นอาการนำ

icon การวินิจฉัยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง เอแอลเอส

       เนื่องจากอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงอาจเป็นอาการของโรคอื่น ๆ ได้ ดังนั้น แพทย์ที่วินิจฉัยต้องเป็นแพทย์อายุรกรรม สาขาประสาทวิทยา ที่มีประสบการณ์พอสมควรจึงจะแยกโรคนี้ออกได้ โดยการซักประวัติเกี่ยวกับอาการป่วยอย่างละเอียด ตรวจร่างกายของผู้ป่วย เพื่อหาลักษณะกล้ามเนื้ออ่อนแรง ฝ่อลีบ และเต้นพลิ้ว ซึ่งถือเป็นอาการจำเพาะของโรคนี้ นอกจากนี้ แพทย์จะต้องสืบค้นทางห้องปฏิบัติการเพิ่มเติมด้วย เพื่อแยกโรคให้แน่ชัด โดยตรวจกระแสไฟฟ้าของกล้ามเนื้อ (Electromyography : EMG) การถ่ายภาพคลื่นแม่เหล็กของสมองและไขสันหลัง (Magnetic resonance imaging : MRI of brain and spinal cord) เป็นต้น

โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง

icon การรักษาโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง เอแอลเอส

        ในปัจจุบันยังไม่มีวิธีรักษาโรคเอแอลเอสให้หายขาด โดยร้อยละ 50 ของผู้ป่วยเอแอลเอส โดยเฉลี่ยจะเสียชีวิตหลังจากมีอาการในระยะเวลาประมาณ 2 ปี อย่างไรก็ตาม ยังมียาชนิดหนึ่งที่ได้รับการยอมรับโดยองค์การอาหารและยาแห่งประเทศสหรัฐอเมริกา ชื่อว่า ไรลูโซล (Riluzole) ให้สามารถใช้กับผู้ป่วยโรคนี้ได้ เพราะยาจะไปออกฤทธิ์ต่อต้านสารกลูตาเมต ซึ่งเป็นสารสื่อประสาทชนิดหนึ่งที่ถ้ามีมากเกินไปจะทำให้เกิดการตายของเซลล์ ยาตัวนี้จึงจะไปช่วยลดการทำลายเซลล์ประสาทในไขสันหลัง และสมองได้ แต่ถึงกระนั้น ก็ไม่สามารถช่วยทำให้อาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงดีขึ้น ทำได้เพียงช่วยยืดอายุของผู้ป่วยออกไปได้อีกราว ๆ 3-6 เดือน

        เมื่อเป็นเช่นนี้แล้ว แพทย์จึงต้องรักษาตามอาการ เช่น ให้ยาลดน้ำลาย ยาแก้อาการท้องผูก ทำกายภาพบำบัด กิจกรรมบำบัด การฝึกพูด ฝึกกลืน หากผู้ป่วยกลืนอาหารไม่ได้ก็ต้องใส่สายยางให้อาหาร และถ้าเหนื่อยหอบ หายใจเองไม่ได้ แพทย์ก็จะใช้เครื่องช่วยหายใจอีกทาง

        อ่านถึงตรงนี้ คงเห็นแล้วว่า โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง เอสแอลอี อันตรายกว่า โรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง เอ็มจี มาก เพราะหากใครป่วยโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง เอสแอลอี ก็ถือว่ามีความเสี่ยงอันตรายถึงชีวิต ต่างจากโรคกล้ามเนื้ออ่อนแรง เอ็มจี ที่สามารถใช้ยารักษาให้หายได้ ถ้าได้รับคำแนะนำและการรักษาจากแพทย์อย่างถูกวิธี อย่างไรก็ดี ไม่ว่าจะเป็นโรคใด ผู้ป่วยก็ล้วนต้องการกำลังใจจากคนรอบข้างในการรักษาตัว

ขอบคุณข้อมูลดีๆ จากเว็บไซต์กระปุกดอทคอม

ที่มา : http://health.kapook.com/view1703.html

ภัยเงียบจากกล่องโฟม… กินสบายแต่ตายเร็ว

เรียบเรียงจาก ภัยเงียบจากกล่องโฟม… กินสบายแต่ตายเร็ว

เรียบเรียงข้อมูลโดยกระปุกดอทคอม

          หลายคนคงเคยชินกับการรับประทานอาหารแบบใส่กล่องโฟมกันใช่ไหมล่ะ เพราะสะดวก รวดเร็ว กินที่ไหนก็ได้ ประหยัดเวลาทำอาหาร และที่สำคัญทานเสร็จก็ไม่ต้องล้างอีกด้วย แต่เพื่อน ๆ เชื่อหรือไม่คะว่า ท่ามกลางความสะดวกสบาย กล่องโฟมก็แฝงไปด้วยภัยร้ายที่อาจคร่าชีวิตคุณได้ในที่สุด

โดย นพ.วีรฉัตร กิตติรัตนไพบูลย์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านบรรจุภัณฑ์ บริษัทบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อม ได้ให้ความรู้ว่า กล่องโฟมที่ใช้ตามท้องตลาดทั่วไป (Styrofoam) เป็นของเสียเหลือทิ้งสีดำ ๆ จากกระบวนการกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม ประกอบด้วยสารสไตรีน (Styrene) มีโครงสร้างโมเลกุลคล้ายฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ในเพศหญิง

       อาหารตามสั่งที่บรรจุกล่องโฟม จึงเป็นแหล่งสะสมสารสไตรีน ซึ่งเป็นสารที่ออกฤทธิ์ทำให้สมองมึนงง สมองเสื่อมง่ายหงุดหงิดง่าย มีผลทำให้ประจำเดือนมาไม่ปกติ และเป็นสารก่อมะเร็งอีก 3 ชนิด ถ้าเป็นผู้ชายรับประทานเข้าไปมาก ๆ มีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก ขณะที่ผู้หญิงมีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านม และทั้งสองเพศมีโอกาสสูงต่อการเป็นมะเร็งตับ แม้จะไม่ได้ดื่มแอลกอฮอล์เป็นประจำก็ตาม

       สำหรับสไตรีน ถือเป็นสารอันตรายที่สหรัฐฯ เพิ่งประกาศขึ้นบัญชีสารก่อมะเร็ง หญิงมีครรภ์ที่รับประทานอาหารบรรจุในกล่องโฟม ลูกมีโอกาสสมองเสื่อมเป็นเอ๋อ อวัยวะบางส่วนพิการ  ส่วนคนทั่วไปถ้ารับประทานอาหารกล่องโฟมทุกวัน วันละอย่างน้อย 1 มื้อ ติดต่อกันเป็นเวลา 10 ปี จะมีโอกาสเสี่ยงเป็นมะเร็งสูงกว่าคนปกติถึง 6 เท่า

กล่องโฟม

         ทั้งนี้ ผู้บริโภคมีโอกาสได้รับสารสไตรีนในกล่องโฟมได้ง่ายถึง 5 ปัจจัยได้แก่

1. อุณหภูมิที่ร้อนขึ้นหรือเย็นลง ทำให้สไตรีนซึมเข้าสู่อาหารได้สูง

2. ถ้าปรุงอาหารโดยใส่น้ำมัน น้ำส้มสายชูแอลกอฮอล์ จะดูดสารสไตรีนจากกล่องโฟมได้มากกว่าปกติ

3. ถ้าซื้ออาหารใส่กล่องทิ้งไว้นาน ๆ ไม่ได้รับประทาน อาหารจะดูดสารสไตรีนได้มาก

4. ถ้านำอาหารที่บรรจุโฟมเข้าไมโครเวฟ สไตรีนจะไหลออกมาในปริมาณมาก

5. ถ้าอาหารสัมผัสพื้นที่ผิวกล่องโฟมมาก ๆ รวมถึงร้านไหนตัดถุงพลาสติกใสรองอาหาร ขอบอกว่าได้รับสารก่อมะเร็ง 2 เด้ง ทั้งสไตรีนและไดออกซินจากถุงพลาสติกเลยทีเดียว

       นพ.วีรฉัตร กล่าวเตือนด้วยว่า อาหารตามสั่งหรือข้าวราดแกงกับไข่ดาวหรือไข่เจียวร้อน ๆ อาจจะไปละลายผนังกล่องโฟม เสมือนรับประทานอาหารคลุกสไตรีนไปด้วย ถึงกระนั้นไข่ดิบที่วางขายในแผงไข่พลาสติก สารสไตรีนมีโอกาสวิ่งเข้าในเปลือกไข่ได้เช่นกัน  ถ้าเลือกไข่ดิบควรเลือกซื้อจากแผงไข่กระดาษจะปลอดภัยที่สุด

ขอบคุณข้อมูลดีๆ จากเว็บไซต์กระปุกดอทคอม

ที่มา : http://health.kapook.com/view55910.html